top of page

มะริด เที่ยวนอกขนบเส้นทาง เชื่อมต่อร่องรอยวัฒนธรรม

อัปเดตเมื่อ 4 ก.ค. 2564



วันนี้เราอยากชวนทุกคนเดินทางไปสำรวจ เมืองมะริด ประเทศพม่า ที่ตั้งอยู่เป็นคู่แฝดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของเรา ด้วยมุมมองใหม่ เพื่อค้นหาจุดท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ต่างไปจากการท่องเที่ยวกระแสหลักอย่างที่เราคุ้นเคย


การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หลายกิจกรรมอาจจะดูคล้ายการท่องเที่ยวแบบเดิม แต่หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยววิถีใหม่นี้จะเน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้มาเยือนและเจ้าบ้าน นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเรื่องราว/เรื่องเล่าของสถานที่ท่องเที่ยว เก็บประสบการณ์ใหม่กลับบ้าน อาจจะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับเจ้าบ้าน นำไปสู่การได้สิ่งของที่จับต้องได้อย่างผลิตภัณฑ์ของชุมชน หรือทำให้นักท่องเที่ยวได้เกิดการเรียนรู้เรื่องใหม่ หรือสามารถสร้างบทเรียนทางสังคมร่วมกัน ก่อเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็นับว่าสร้างสรรค์แล้ว



การเดินทางสำรวจจุดท่องเที่ยวในมะริดด้วยมุมมองนี้จึงท้าทายอย่างมาก เพราะมะริดนั้นมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผูกพันกับประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ ในช่วงนั้นพ่อค้าชาวตะวันตกมักลำเลียงสินค้ามาทางมหาสมุทรอินเดีย สินค้าหลากหลายชนิดถูกลำเลียงผ่านเมืองมะริดและตะนาวศรี เพื่อนำมาขายแก่อยุธยา มีชาวตะวันตกอย่างฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส เข้ามาทำการทูตและการค้าผ่านเส้นทางนี้

การค้นหากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จึงสามารถอิงกับบริบททางประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้

ขุดค้นประสบการณ์ร่วมในอดีตเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในปัจจุบัน



หมู่บ้านสิงขร

หมู่บ้านสิงขรห่างจากด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่ไกลนัก หมู่บ้านนี้มีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นคนสยามที่บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ผืนดินนี้ถูกปกครองโดยอาณาจักรสุโขทัย ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยได้ มีโรงเรียนสอนภาษาไทย และมีวัดสิงขรเป็นสถานที่รวมศรัทธาของคนไทยพุทธ การได้พูดคุยกับคนไทยสิงขรในเขตปกครองของพม่าจึงเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์กันได้ดี และเป็นสถานที่หนึ่งที่ควรเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมไทยและพม่าที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน


แม่น้ำตะนาวศรี

จุดน่าสนใจหนึ่งระหว่างทางไปตัวเมืองมะริด คือการแวะเที่ยวเมืองตะนาวศรีที่มีแม่น้ำตะนาวศรีเป็นแม่น้ำสายหลัก และเคยเป็นเส้นทางการค้าโบราณที่สำคัญ ชาวมัวร์ ชาวเปอร์เซีย ชาวลังกา และคณะทูตจากชาติตะวันตกก็ใช้เส้นทางนี้เดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาโดยเรือสำเภา เริ่มจากท่าเรือเมืองมะริด ล่องผ่านแม่น้ำตะนาวศรี ก่อนจะแยกไปลำน้ำเล็กลง หากต้องการเห็นภาพเส้นทางการค้าโบราณให้ชัดเจน ต้องเดินขึ้นไปที่เจดีย์ที่ตั้งอยู่เนินเขาริมแม่น้ำจะเห็นจุดบรรจบของแม่น้ำตะนาวศรีและแม่น้ำสายเล็กชัดเจน โดยแม่น้ำสายเล็กนี้จะไปถึงปราณบุรี กุยบุรี และบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เลยทีเดียว

กิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือการล่องเรือในแม่น้ำตะนาวศรี นอกจากจะได้ชมธรรมชาติที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดสองฝั่งริมแม่น้ำยังได้เห็นวิถีชีวิตของคนตะนาวศรีที่ลงมาใช้แม่น้ำ เช่น การจับปลา ซักเสื้อผ้า ล้างจาน อาบน้ำ เป็นชีวิตประจำวันของคนที่นี่ ขณะเดียวกันก็ยังเห็นเจดีย์สีทองตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำสายนี้ยังคงดูมีชีวิตชีวา




เมืองมะริดอาจจะไม่ใช่เมืองที่มีตึกระฟ้าหรือห้างสรรพสินค้าทันสมัยน่าตื่นตาแบบกรุงเทพฯ แต่หากใครอยากเปลี่ยนบรรยากาศมาชมตัวเมืองที่เราไม่คุ้นเคย ทั้งตึกราม สินค้า หรือผู้คนที่เดินผ่านไปมา ก็แตกต่างไปจากที่เราเคยพบเห็น โดยเฉพาะเมื่อได้สำรวจวัดในเมืองมะริด ก็มีศิลปะสวยงามอีกแบบ นอกจากวัดเตงดอจี ที่มีเจดีย์สีทองอร่ามเป็นจุดสนใจหลักของเมือง พระพุทธรูปของที่นี่ก็มีรูปลักษณ์ต่างไปจากที่เห็นในบ้านเรา อีกทั้งเมื่อได้เข้าไปร่วมงานวันวิสาขบูชาในวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองมะริด ก็ได้ชมประเพณีรดน้ำพระที่ดูคล้ายงานสงกรานต์มากกว่า เมื่อหนุ่มสาวต่างขนน้ำเข้าวัดเพื่อรดน้ำพระพุทธรูป ส่งน้ำต่อกันดูชื่นมื่นรื่นเริง ทำให้งานวัดไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่สามารถดึงหนุ่มสาวเข้ามามีส่วนร่วมสืบสานประเพณีงานวัดได้



มะริดมีเกาะอยู่จำนวนมาก เราได้นั่งเรือเร็วไปสำรวจประมาณ 3-4 เกาะ ซึ่งส่วนใหญ่มีศักยภาพพอจะพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ การได้ลงเล่นน้ำอาจจะเป็นกิจกรรมหลักของนักท่องเที่ยวผู้หลงรักทะเล แต่หากใครต้องการเรียนรู้ไปพร้อมกับการพักผ่อน เกาะของมะริดอย่างเกาะ Don ยังมีวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงและชาวมอแกนให้ได้เรียนรู้ ทั้งวัฒนธรรม ภาษา วิธีการจับสัตว์น้ำ แล้วนำไปทำอาหารต่อได้ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้วิถีประมงร่วมกับชุมชนทั้งกระบวนการ พร้อมกับฉากหลังเป็นทะเลสีฟ้าใส ชวนให้เก็บเกี่ยวทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความอิ่มเอมใจใส่กระเป๋า


เมื่อได้สำรวจจุดท่องเที่ยวของเมืองมะริดแล้ว นับว่ามีหลายแห่งที่หากได้พัฒนาขึ้นเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จะสร้างคุณค่าแก่ชุมชนได้มาก อีกทั้งเมื่อคนไทยและคนพม่าเคยมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ก็เป็นสารตั้งต้นของความผูกพันและการเรียนรู้ร่วมกันตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี


 

#การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

#เที่ยวสร้างสรรค์

เมื่อได้ชมจุดท่องเที่ยวเบื้องต้นในเมืองมะริด เพื่อนๆมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง คิดว่าอยากลองไปเที่ยวไหม หรือหากใครยังตัดสินใจไม่ได้ อยากทราบข้อมูลอะไรเพิ่มเติม สามารถแสดงความคิดเห็นด้านล่าง เพื่อเราจะนำความคิดเห็นไปพัฒนาการท่องเที่ยวและพัฒนาการสื่อสารร่วมกับชุมชนต่อไป


แบบฟอร์มแสดงความคิดเห็น

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSclnWksuyaoAmP0yafWsUfH1JZirl0BKKHCEQpli6-EX2-DMA/viewform?usp=sf_link


bottom of page