top of page
  • รูปภาพนักเขียนKulrach

สำรวจทะเลใหม่ วิถีชีวิต และมิตรภาพใหม่เหนือผืนน้ำ กับชาวประมงบ้านหินช้าง จ.ระนอง

อัปเดตเมื่อ 20 ม.ค. 2565


ออกเดินทางหามิตรภาพใหม่ หลังโควิดคลี่คลาย หลายคนคงอยากทิ้งตัวบนธรรมชาติกว้างขวางที่ผ่อนคลายและปลอดภัย และอีกหลายคนคงอยากเดินทางพบปะผู้คนที่หายหน้าหายตากันไปนาน ใช้พื้นที่สีครามสีเขียว เป็นฉากหลังของมิตรภาพ คงดีไม่น้อย



#CreativeJourneyth #Hinchang

พื้นที่ธรรมชาติเป็นจุดแข็งของการท่องเที่ยวไทยมาตลอด โดยเฉพาะทะเลภาคใต้หลายแห่งได้รับความนิยมแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายแห่งรอการสำรวจค้นพบ

กลุ่มท่องเที่ยวประมงพื้นบ้านหินช้าง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ก็กำลังร่างเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชนเพื่อนำเสนอเป็นทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว

ทะเลชายแดนผืนกว้างที่ยังเก็บตัวเงียบ คนระนองส่วนใหญ่รู้จักบ้านหินช้างว่าเป็นแหล่งอาหารทะเลแห่งหนึ่ง บางคนรู้ว่าเป็นทางผ่านไปอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ขณะที่เจ้าของร้านกาแฟแห่งหนึ่งในตัวเมืองระนองบอกว่าเคยขับรถผ่าน มองออกไปเห็นวิวทะเลตรงนั้นสวยมาก และเมื่อเข้าไปดูหมู่บ้านชาวประมงก็ยังเสียดายที่ปล่อยให้ที่นี่ตกสำรวจทั้งที่อยู่ใกล้ตัวเมืองระนองแค่ 20 นาที





พี่เจนนี่และพี่เยาวภาคือสองเรี่ยวแรงสำคัญที่ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านหินช้าง คนแรกเป็นสมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้าน อีกคนเป็นสมาชิกกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลและเจ้าของร้านอาหารในหมู่บ้าน ทั้งคู่เก็บประสบการณ์การทำงานร่วมกับเครือข่ายประมงและการพัฒนาชุมชนหลายปี จนในครั้งนี้มีโอกาสชวนเราลองเที่ยวบ้านหินช้าง ด้วยความเชื่อมั่นว่าบ้านเกิดของพวกเขามีความพิเศษพอจะเป็นที่เที่ยววิถีใหม่ได้




การสวมรองเท้าของตัวเองอาจจะทำให้เดินทางอย่างสบายใจ แต่การได้ลองสวมรองเท้าคนอื่นเดินบ้าง อาจจะได้ท่าทางและได้มองมุมที่สนุกขึ้น


วิถีชีวิต วิถีเที่ยว วิถีเดียวกัน


ความตั้งใจของเราในการสำรวจครั้งนี้คือการค้นหาจุดท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของคนหินช้างที่ผูกพันอยู่กับพื้นที่แห่งนี้ กล่าวคือเราต้องการทำความรู้จักทั้งกับสถานที่ใหม่และผู้คนใหม่ มากกว่าความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่เรามองเห็นด้วยตา เรายังตามหาความรุ่มรวยของชีวิตที่จะช่วยเติมเต็มความเป็นมนุษย์ของเราด้วย เมื่อได้คุยกับเจ้าของบ้านหลายคน เราคิดว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่น่าสนใจมากโดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่การทำมาหากินอิงอยู่กับธรรมชาติและสำนึกรับผิดชอบ นี่คือวิถีชีวิตที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง ผันเปลี่ยนตามปรากฎการณ์ธรรมชาติ การเดินทางครั้งนี้จึงท้าทายมากกว่าที่คิด





เพื่อให้ได้เห็นวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นตามจริง เราตกลงร่วมกัน ยอมสวมรองเท้าเจ้าบ้านเดิน คือยอมรับเงื่อนไขของพื้นที่โดยไม่ดัดแปลงจนกระทบวิถีเดิมมากเกินไป เรา พี่เจนนี่และทีมงานจึงสื่อสารพูดคุยกันหลายครั้งก่อนเดินทาง โดยการบ้านชิ้นสำคัญที่พี่เจนนี่ให้เราทำคือการเลือกวันเที่ยวจาก "ปฏิทินน้ำ" ซึ่งเรานำมาจัดทำเป็นรูปแบบที่ดูง่ายและพกพาง่ายขึ้น(ตามรูป) ปฏิทินน้ำจะช่วยบอกระดับน้ำขึ้นน้ำลงในวันที่เราต้องการเที่ยว และโปรแกรมเที่ยวที่เหมาะสม ทำให้เราได้เตรียมตัวตั้งแต่อยู่บ้าน เป็นเรื่องที่สองฝ่ายควรเข้าใจตรงกันก่อนเดินทาง



วิธีการอ่านปฏิทินน้ำ

ไขรหัสทะเล


การอ่านปฏิทินน้ำไม่ยากเลย ขอลำดับเป็นข้อเพื่อให้เข้าใจง่าย ดังนี้

  1. กำหนดวันที่เราจะไปเที่ยว

  2. นำวันเที่ยวไปดู “ค่ำ” ในปฏิทินจันทรคติหรือปฏิทินที่บอกวันพระหรือวันข้างขึ้นข้างแรม

  3. เมื่อได้ “ค่ำ” ไม่ว่าจะเป็นขึ้นหรือแรมก็ตาม เช่น วันขึ้นห้าค่ำ วันแรมสิบห้าค่ำ ก็นำ "ค่ำ" ไปเทียบในปฏิทินน้ำ เราก็จะรู้ระดับน้ำและจุดเที่ยว รวมถึงช่วงเวลาเที่ยวด้วย

ยกตัวอย่าง หากเรานัดเพื่อนไปเที่ยววันที่ 13 เมษายน 2564 พบว่าในปฏิทินจันทรคติตรงกับ 2 ค่ำ ก็นำไปเทียบในปฏิทินน้ำ ตรงกับช่วงน้ำเย็น เราจะได้ลงเรือประมาณ 09.30 น. และได้เที่ยวเส้นทาง A คือมีพ่อตาหินช้างเป็นจุดเที่ยวแรก





คำแนะนำอีกเรื่องที่พี่เจนนี่บอกเราก็คือ ให้เตรียมรองเท้าแตะใส่กระเป๋าไปด้วย เพราะในช่วงแรกจุดขึ้น-ลงเรือจะใช้ทางปกติของชาวประมง ดินมีลักษณะเป็นโคลนนิ่มสีน้ำตาลที่ใส่รองเท้าเดินไม่สะดวก เมื่อเราได้มาเห็นสถานที่จริงก็ต้องขอบใจพี่เจนนี่ที่ช่วยแนะนำ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปด้วยกันทั้งเจ้าบ้านและผู้มาเยือน

ตามโปรแกรมปกติจะใช้เวลาเที่ยวประมาณ 4 ชั่วโมง แต่ในการทดลองเที่ยวครั้งนี้เราอยู่ในทะเลตั้งแต่สายจนถึงค่ำเพื่อเก็บข้อมูลและเก็บภาพให้มากที่สุด

วันนี้เรานั่งเรือกับพี่เจนนี่และบังสันซึ่งเคยขับเรือให้กับบริษัทนำเที่ยว แต่เมื่อเจอสถานการณ์โรคระบาดจึงกลับมาทำประมงที่บ้านและหวังว่าการท่องเที่ยวที่นี่จะไปได้ดี ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่นอีกต่อไป บังสันจึงช่วยแบ่งปันประสบการณ์แบบมืออาชีพให้กับกลุ่มได้เรียนรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยว



บังสัน สมชาย ผกามาศ ชาวประมงพื้นบ้านหินช้าง


พักหันหลังให้ตัวเอง เปิดใจรับคนอื่น


เมื่อเรือของเราห่างออกจากฝั่ง เราหันหลังให้ชายฝั่งไทยแล้วเปิดหน้าสู่แนวเขาประเทศเมียนมา ตรงหน้านั้นคือเกาะสอง ที่คนหินช้างหลายคนเคยอาศัยและเคยทำมาหากินที่นั่น ชาวประมงพื้นบ้านของเราคุ้นเคย รวมถึงได้ใช้ทรัพยากรทะเลร่วมกัน ตรงนี้กับตรงนั้นเราเชื่อมโยงกันอยู่หลายมิติตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งเมื่อได้ฟังคำบอกเล่านี้ขณะลอยลำอยู่กลางทะเล ความคิดหนึ่งก็ลอยมากระทบ เรามองไม่เห็นเส้นพรมแดนที่ขีดคั่นระหว่างไทยกับพม่าเหมือนภาพแผนที่ที่เคยร่ำเรียน ความแตกต่างระหว่างเรากับเขาไม่ได้ตัดแบ่งชัดเหมือนสีน้ำทะเลที่ค่อยๆ เหลื่อมซ้อนกัน ความสัมพันธ์ของผู้คนในโลกที่เป็นจริงนั้นต่างจากโลกในหนังสือเรียนหรือเรื่องที่คนอื่นเล่าต่อกันมา



ชาวประมงบ้านหินช้างลงไปเดินบนเนินทรายใต้น้ำ ฉากหลังคือเกาะสอง ประเทศเมียนมา

หลังจากทำความรู้จักกับแผ่นดินเพื่อนบ้านและจินตนาการถึงใบหน้าผู้คนบนเกาะ เรามองกลับไปยังฉากหลังที่เพิ่งผ่านมา หมอกขาวเริ่มลอยเรียดเนินเขาเหนือหมู่บ้าน-ภาพนี้มักเกิดขึ้นตอนหลังฝนตกซึ่งเป็นภาพที่คนระนองเห็นจนชินตา ตลอดแนวเนินเขาเราเห็นสวนของชาวไทยพุทธบ้านหินช้าง ปลูกยาง ปลูกหมาก หรือไม่ก็มะม่วงหิมพานต์ ขณะที่ไทยมุสลิมเน้นทำประมง ตั้งหมู่บ้านติดทะเลที่ตอนนี้เราเห็นไกลออกไป ก่อนที่หมู่ไม้ชายเลนจะเริ่มหนาตา หมู่บ้านก็ลับตาไป





ธรรมชาติกับคน ในความดูแลกัน


เรือของเราเข้าไปในคลองซะกวด ป่าชายเลนผืนใหญ่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี เมื่อพื้นที่ตรงนี้ยังถูกยึดครองด้วยสัตว์และป่า ที่นี่จึงยังคงความบริสุทธิ์ เหมาะเป็นบ้านหลังแรกให้สัตว์ทะเลได้อาศัย เศษกิ่งไม้ลอยเกะกะไร้คนจัดวาง ต้นโกงกางใหญ่เอนขวางและรากของมันมีรูปชวนพิศวง เมื่อเรือของเราแล่นลึกเข้าไป ยังได้ยินเสียงสัตว์ส่งเสียงประสานกันโดยไม่รู้ถึงการมาเยือนของเรา เหยี่ยวแดงนับร้อยสลับกันโฉบออกมาจากแนวป่าก่อนลอยหนีสูงขึ้นไป ขวาทีซ้ายทีให้ภาพเหมือนฉากหนังผจญภัย





เส้นทางชมป่าชายเลนของกลุ่มท่องเที่ยวประมงพื้นบ้านหินช้าง บรรจบกับทางเดินศึกษาธรรมชาติของอุทยานฯ ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ทางเดินนั้นคือสิ่งปลูกสร้างของคน ที่ขอพื้นที่ธรรมชาติสร้างสำหรับให้เราเข้าไปศึกษาและเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การใช้ประโยชน์ และการพึ่งพิงกันระหว่างคน สัตว์ และธรรมชาติ เมื่อคนยังต้องการธรรมชาติเพื่อดำรงอยู่และธรรมชาติก็ต้องการการฟื้นกลับคืน





จากใต้น้ำถึงบนจาน


ออกสู่ทะเลกว้างอีกครั้งเมื่อถึงเวลาที่ชาวประมงจะออกไปวาง "ลอบ" อุปกรณ์จับกั้งและกุ้งมังกรของชาวประมงพื้นบ้าน วันนี้บังนิวชาวประมงหนุ่มผู้กระตือรือร้น นำลอบหลายสิบอันมาวางให้เราดูพร้อมชวนเราลองทำอย่างที่พวกเขาทำ ในครั้งแรกที่ได้เห็นอุปกรณ์ชนิดนี้เรานึกถึงกับดักสัตว์ที่ไม่น่าไว้วางใจ นึกถึงกลไกซับซ้อนที่อาจจะถูก "ลอบ" ทำร้ายได้ แต่บังนิวทำให้ทุกอย่างดูง่ายขึ้นจนในที่สุดเราก็คุ้นเคยกับมัน


บังนิว ปิยะ แสงทอง และเพื่อนชาวประมงพื้นบ้านหินช้าง


ตลอดแนวลำน้ำกระบุรีมีจุดวางลอบอยู่หลายจุด นอกจากเราได้เรียนรู้วิธีการวางลอบ เมื่อเราได้อยู่ใกล้กันพอจะส่งเสียงถึงกัน ทำให้เราได้ร่วมลุ้นตามไปด้วย บังนิวนำลอบขึ้นมาทีละอันๆ ซึ่งทุกครั้งที่ภายในลอบว่างเปล่าก็เกิดคำถามในใจเราทุกครั้ง ถึงความอดทนของชาวประมงพื้นบ้าน และคุณค่าของการจับสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ


บนเรือลำเดียวกัน บนความคาดหวังเดียวกัน การวางลอบนับร้อยอันหลายครั้งไม่ได้กุ้งหรือกั้งเลยสักตัว มีเพียงแค่หอยเม่นที่จำต้องส่งกลับคืนทะเล ความผิดหวังมักเดินทางมาเร็วกว่าความสมหวัง และชาวประมงคงผ่านเรื่องนี้มาหลายพันครั้ง ดังนั้น เมื่อนึกถึงการเป็นผู้บริโภคของเราที่เคยนั่งรอกินและจ่ายเงินอยู่บนฝั่ง ไม่เคยเห็นกระบวนการเหล่านี้ ไม่เคยนึกถึงว่าหากเราสั่งอาหารจากวัตถุดิบหายากแล้วชาวประมงต้องแลกกับอะไรมาบ้าง หรือใช้วิธีผิดๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่เราอยากกิน ซึ่งล้วนส่งผลต่อราคาของอาหารจานนั้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น การได้นั่งเรือมาเรียนรู้จึงทำให้เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองของกันและกัน รวมถึงเข้าใจกลไกการผลิตอาหารทะเลมากขึ้น ว่าทำอย่างไรอาหารทะเลจึงจะมีให้เรากินอย่างยั่งยืน ภายใต้ความรับผิดชอบร่วมกันทั้งคนหาและคนกิน





ความสนุกอย่างหนึ่งของฐานเรียนรู้ที่ไม่ได้ถูกจัดวางคือการคาดเดาไม่ได้ เมื่อไม่มีแผนที่นำทาง ไม่มีกระจกกั้น และป้ายชื่อเหมือนในอควาเรียม


ห้องเรียนท้องทะเล บทเรียนชีวิตจริง


ในวันน้ำตายที่คลื่นนิ่งสงบ เราจะได้เห็นเรือประมงพื้นบ้านหลายลำจอดหาปลาตลอดแนวลำน้ำ ที่นั่นคือฐานการเรียนรู้ลอยน้ำของบ้านหินช้าง วิชาความรู้ทางทะเลสลับสับเปลี่ยนอยู่ทุกวันแล้วแต่ทะเลจะนำมา ไม่มีแผนที่นำทาง ไม่มีกระจกกั้น หรือป้ายชื่อเหมือนในอควาเรียม แต่มีครูชาวประมงให้ความรู้แก่เรา ครั้งนี้เราได้เห็นปลาดุกทะเล แมงดาทะเล กุ้งแชบ๊วย และเรือของเรายังแวะไปดูการทำหอยนางรม หอยแมลงภู่ ซึ่งเรียงกันละลานตาบนหลักไม้ยาวหลายสิบเมตร นอกจากนั้นยังได้เทียบเรือซื้ออาหารทะเลสดจากมือชาวประมง เขาหาอะไรได้เราก็ซื้อ เขาหาไม่ได้เราก็อดกันทั้งคู่ เราไปด้วยฐานของความเข้าใจและจิตวิญญาณของนักสำรวจ





ฉากชีวิตที่หาดตากี้


หาดตากี้คือจุดพักผ่อนของชาวประมง บ้างใช้หลบฝน บ้างใช้รอระดับน้ำ บนหาดมีกระท่อมน้อยหรือ “ขนำ” พักได้ 7-8 คน เมื่อจะทำการท่องเที่ยวพวกเขาจึงนำมาใช้เป็นที่พักให้นักเดินทางได้หลบพักจากคลื่น


เรากินข้าวกันบนขนำด้วยบรรยากาศและบทสนทนาสบายๆ ไม่พิธีรีตองแต่ออกรสไปพร้อมกับอาหารฝีมือพี่เจนนี่ ผักเหลียงผัดไข่ ปลาทอด ทอดมัน น้ำพริกกะปิ และน้ำจิ้มซีฟู๊ดที่เตรียมไว้สำหรับอาหารทะเลที่เราเพิ่งซื้อมาจากร้านกลางทะเล





พี่เจนนี่เล่าว่าที่หาดตากี้เคยมีกุ้งเคยไว้ทำกะปิอย่างมหาศาล และเป็นของขึ้นชื่อของหินช้าง แต่พอถึงช่วงฤดูที่อุณหภูมิน้ำสูงขึ้นกุ้งเคยก็เริ่มลดลง




อุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนไปทำให้สัตว์ทะเลบางชนิดหลบหาย และระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เราได้เห็นฉากชีวิตอื่นสลับเปลี่ยนกันด้วย เมื่อน้ำขึ้นต้นโกงกางจะขโมยซีนเด่นด้วยรูปทรงแปลกตา ปลาตีนถูกน้ำทะเลเบียดขึ้นมาใกล้ ขณะที่เมื่อน้ำลดลงเราจะได้เห็นสัตว์ตัวจิ๋วเผยตัวจากที่ซ่อน เช่น หอยแมลงภู่ที่เกาะกันเป็นพวงอยู่รอบหาดก่อนจะถูกนำไปแขวนเล่นคลื่นที่หลักไม้กลางน้ำ หรือปูแสมที่กำลังเดินเซซ้ายขวาจ้องจับจังหวะกับพี่ชาวประมงที่กำลังนั่งพักเหยียดกายและเตรียมอุปกรณ์ระหว่างรอน้ำลง การรอคอยนี้ไม่ใช่การจำใจรออย่างเสียไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะขึ้นหรือลงคนทะเลก็มีทางทำมาหากินได้หมด เป็นน้ำคุ้นน้ำเคยที่อยู่กันมาตั้งแต่เกิด



ชาวประมงเลี้ยงหอยกำลังรอระดับน้ำลดที่หาดตากี้
ทะเลจะกลับมาช่วยชะล้างร่องรอยของเราอีกครั้ง เวียนเปลี่ยนไปไม่มีใครครอบครอง

โหนกลาง พื้นที่กลางระหว่างคนและธรรมชาติ


ปรากฎการณ์ธรรมชาติน้ำขึ้นน้ำลงมีเรื่องให้ชวนประหลาดใจอยู่เสมอ "โหนกลาง" คือเนินทรายกลางทะเลที่ปรากฎออกมาเมื่อน้ำลด ลักษณะพื้นทรายของโหนกลางไม่ได้ราบเรียบแต่เป็นเนินลูกระนาดเรียงตัวกัน ทรายสีเข้มและการเผยตัวของสัตว์เล็กหลากชนิด ปูม้า ปลาดาว ปูเสฉวน ทำตัวนิ่งแอบอยู่ในร่องทราย แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติบริเวณนี้





วันนี้บังนิวอาสาเดินนำชมโหนกลาง คอยชี้ชวนให้ดูบรรยากาศที่โอบล้อมพวกเราอยู่ ที่นี่มีพื้นที่กว้างขวางให้ทุกคนได้ทำกิจกรรมตามที่ชอบ บางคนเห็นน้ำทะเลแล้วอดใจไม่ไหวก็หย่อนตัวเองลงเล่นน้ำ บางคนออกสำรวจสรรพชีวิตเล็กใหญ่ เราได้พักผ่อนบนผืนทรายผืนใหม่ของวันที่ยังไร้รอยของคน แต่ช่วงเวลาน้ำลงให้เราพอเล่นได้มีเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น และเมื่อถึงเวลาน้ำขึ้นเราก็ต้องรีบขึ้นเรือ เพราะทะเลจะกลับมาช่วยชะล้างร่องรอยของเราอีกครั้ง เวียนเปลี่ยนไปไม่มีใครครอบครอง





แสงสุดท้ายทะเลชายแดน


ตอนนี้ดวงอาทิตย์ข้ามทะเลไปแล้ว ลอยอยู่เหนือเกาะสองประเทศเมียนมา เรือของเรากำลังย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นพร้อมกับแสงสีเหลืองเปลี่ยนเป็นสีส้ม เหมือนมิตรภาพของทุกคนที่ค่อยๆ โน้มหากันระหว่างทำกิจกรรม ฉากพระอาทิตย์ตกที่นี่เป็นฉากสวยที่สุดแห่งหนึ่ง เมื่อมันได้อยู่กับองค์ประกอบนี้ เหล่าไม้หลักและเหล่าผู้คนกลางทะเล ร้อยรัดอยู่รวมกันเพื่อจุดประสงค์สำคัญบางอย่าง



โป๊ะไม้ไผ่ เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำของชาวประมงหินช้าง


เรากลับขึ้นฝั่งตรงหมู่บ้านชาวประมง ทันได้เห็นหลายบ้านกำลังเตรียมของไปขายและเตรียมเครื่องมือหาปลาไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ สำหรับคนไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตนี้รู้สึกตื่นเต้นต่อทุกอย่างตรงหน้า เพลิดเพลินกับรูปแบบการเที่ยวที่กลุ่มท่องเที่ยวของบ้านหินช้างนำเสนอแก่เรา โดยเฉพาะการนำวิถีชีวิตมาร่วมสร้างสรรค์เช่นนี้ ทั้งเหมาะกับการมาเที่ยวกับครอบครัว เหมาะกับการทัศนศึกษาในธรรมชาติบริสุทธิ์ คนที่ต้องการปลีกวิเวก หรือคนที่มองหาโอกาสจะได้ผูกพันกับหลากหลายชีวิต ซึ่งเราเชื่อว่าในทุกวันที่รู้สึกอึดอัดและอุดอู้ใจอยู่ในเมือง เราจะนึกถึงที่นี่ พื้นที่กว้างที่ขยับขยายหัวใจเราให้กว้างขึ้น




เรื่องและภาพ โครงการออกแบบการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



 

ติดตามเรื่องราวของ "กลุ่มท่องเที่ยวประมงพื้นบ้านหินช้าง" เพิ่มเติมได้ที่ ชุมชนเที่ยวสร้างสรรค์

ร่วมพูดคุยและเสนอแนะเรื่องการท่องเที่ยวในมุมมองของคุณ เพิ่มเติมได้ที่ ล้อมวงคุย





bottom of page