top of page

มองความงาม "น่าน" ผ่านมุมมองใหม่ ผ่านเรื่องเล่าประวัติศาสตร์

แม้โลกาภิวัฒน์จะแปรสถานที่หลายแห่งให้มองแล้วเหมือนกันไปหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกสถานที่มีรากเหง้าเรื่องเล่าและความเป็นตัวเองอยู่ทั้งนั้น จึงเป็นความอุตสาหะและความสร้างสรรค์ที่ท้าทาย ที่ชุมชนท้องเที่ยวในแต่ละแห่งจะชุบชีวิตสถานที่และเรื่องราวให้แก่บ้านเกิดตนเอง



น่านเป็นจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่ได้รับการยกย่องและขึ้นชื่อเรื่องแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นที่แข็งแรง มีอัตลักษณ์ชัดเจน ทำให้เมืองน่านโดดเด่นและงดงามในแง่วิถีชีวิตจนเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ


ทั้งนี้ตัวตนของน่านที่มีเสน่ห์เฉพาะนั้น มาจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ภายใต้ภาพบ้านเมืองและวิถีที่ดำรงอยู่ กลับซ่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นที่มาอันเป็นแก่นเป็นแกนของเมืองน่านอย่างน่าสนใจซึ่งอาจเป็นประวัติศาสตร์ในส่วนที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับทราบ จึงทำให้เห็นภาพความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ของน่านอย่างผิวเผินกว่าที่ควรจะเป็น


ถนนเจ้าฟ้า เป็นหนึ่งในถนนที่เป็นที่รู้จักในอำเภอเมืองจังหวัดน่าน แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า “เจ้าฟ้า” ที่เป็นที่มาของชื่อถนนเป็นเจ้าฟ้าพระองค์ไหน?


พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หลงเหลืออยู่ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นหัวใจ จังหวัดน่านอันที่จริงแล้วมีการบุกเบิกสร้างบ้านแปงเมืองอย่างบุกบั่นเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีด้วยน้ำพักน้ำแรงของชนชาวน่านเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ นักประวัติศาสตร์ผู้เป็นหัวเรือหลักในการดำเนินโครงการ “การสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์น่าน ในยุคราชวงศ์หลวงติ๋น พ.ศ.2329 ถึง พ.ศ. 2442 กับการประยุกต์ใช้คามรู้เพื่อการท่องเที่ยว” ได้นำเอาประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หลวงติ๋นหรือราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ร้อยเรียงเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่อยู่บนฐานของเรื่องเล่า


ราชวงศ์หลวงติ๋นเป็นราชวงศ์ที่ปกครองนครรัฐน่านต่อจากราชวงศ์ภูคา ราชวงศ์หลวงติ๋นเป็นราชวงศ์ของน่านที่มีความสำคัญในการสร้างและฟื้นฟูน่านใหม่หลังจากการโดนโจมตีในสมัยราชวงศ์ภูคา และทำให้เป็นน่านอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน


การฟื้นฟูเริ่มเป็นจริงเป็นจังในสมัย “สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ” หรือ เจ้าฟ้าน้อยอัตถะ ซึ่งเป็นพระปนัดดา (เหลน) ของของพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ ปฐมเจ้าผู้ครองนครน่านแห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ โดยเจ้าฟ้าน้อยอัตถะนี้เองที่ทรงฟื้นฟูน่านจนกลายมาเป็นอาณาจักรน่านในลักษณะที่เราเห็นนปัจจุบัน โดยทรงเริ่มตั้งจุดศูนย์กลางอำนาจอยู่ทางน่านใต้ คือในบริเวณ อำเภอนาน้อยและอำเภอนาหมื่นในปัจจุบัน ก่อนจะขยับศูนย์กลางขึ้นมาเป็นที่เวียงสา และสุดท้ายเคลื่อนขยับมาอยู่ที่ “เวียง” นั่นก็คืออำเภอเมืองในปัจจุบัน ถนนเจ้าฟ้าแท้แล้วเคยเป็นเส้นทางเสด็จของเจ้าฟ้า ซึ่งหมายถึงผู้ครองสมัยราชวงศ์หลวงติ๋นที่ลงไปทางใต้เพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังบางกอก


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

ตามพงศาวดารมีตำนานเรื่องเล่าถึงการฟื้นฟูและเคลื่อนย้ายเมือง เช่น ตำนานของพระธาตุแช่แห้งก็เป็นเรื่องเล่าที่มีในพงศาวดาร โดยตอนที่เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญทรงตั้งศูนย์กลางอยูที่นาน้อย และได้ทรงสร้างเจดีย์ใหม่ที่วัดนาราบ ตามตำนานเล่าว่าเกิดอิทธิฤทธิ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตดูแลพระธาตุแช่แห้งมาแจ้งให้ทรงไปบูรณะฟื้นฟูบูรณะพระธาตุแช่แห้งซึ่งถูกทิ้งร้างในช่วงเวลานั้น เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญจึงค่อยๆ เคลื่อนย้ายเมืองมาจนถึงเวียงเพื่อเข้าไปบูรณะพระธาตุแช่แห้งให้กลายเป็นที่สักการะจนถึงในปัจจุบัน

ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือและผู้คนอาจไม่ค่อยรับรู้จึงเป็นว่าแท้แล้ว ความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ของน่านไม่ได้มีกระจุกตัวอยู่แต่ในแหล่งเมืองน่าน เท่านั้น แต่ยังมีขอบเขตขยายลงไปถึงน่านใต้ที่เป็นจุดเริ่มต้น และสามารถร้อยเรียงเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวและท้องถิ่นเข้าใจความเป็นมา ความสำคัญและภูมิปัญญาของน่านแต่เดิมได้อย่างน่าสนใจ



วัดศรีบุญเรือง จ.น่าน

การผนวกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้ากับการท่องเที่ยวขอโครงการ จึงยึดหัวใจหลักอยู่ที่ “เรื่องเล่า” เริ่มต้นเส้นทางการท่องเที่ยวตั้งแต่นาน้อยไปจนถึงอำเภอเมือง เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวพร้อมคู่มือท่องเที่ยวให้เหมาะสมแก่นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม และมีการสร้างคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวขึ้นมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยตนเองได้


นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ด้วยตัวเองด้วยความเข้าใจในประวัติศาสตร์ พัฒนาการของน่าน เราหวังว่าเขาจะเคารพอดีต ความทรงจำ ความอุตสาหะของคนในอดีต และท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาวรรณ ได้กล่าวถึงความตั้งใจของการทำเส้นทางท่องเที่ยวและคู่มือท่องเที่ยวนี้



ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่จะได้ซึมซับและเดินทางบนฐานความเข้าใจในแหล่งท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันเมื่อมองย้อนกลับมาในท้องถิ่น ประวัติศาสตร์เหล่านี้อาจถูกหลงลืมไปในกลุ่มคนท้องที่หรือคนรุ่นใหม่ การฟื้นประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หลวงติ๋น จึงถือเป็นการเสริมพลังแก่ท้องถิ่น ให้ได้รู้ว่าที่เห็นในปัจจุบันนี้ถูกสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนน่านเองในอดีต นำไปสู่จิตสำนึกในการอนุรักษ์ หรือหากจะมีการพัฒนา ก็สามารถพัฒนาอบู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ แม้สถานที่หลายแห่งถูกบูรณะมาหลายสมัย ก่อนจะมาเปนรูปลักษณ์แบบปัจจุบันนี้และไม่ใช่แบบดั้งเดิมมาแต่สมัหลวงติ๋น แต่ความเข้าใจในประวัติศาสตร์จะถือเป็นต้นทุนสำหรับท้องถิ่น เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในหลายมิติ



วัดนาปัง จ.น่าน

ในแง่ของการผนวกประวัติศาสตร์เข้ากับการพัฒนาการท่องเที่ยว สำหรับท้องถิ่นจากกรณีเส้นทางการท่องเที่ยวราชวงศ์หลวงติ๋นนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาวรรณ มองว่าความสำคัญอยู่ที่ “เรื่องเล่า” ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถหยิบจับสร้างสรรค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ คำว่าเรื่องเล่านี้ก็หมายรวมถึงประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ที่ไม่จำเป็นต้องเก่าแก่ เป็นร้อยปี แต่อาจเป็นเหตุการณ์ในหลักทศวรรษก็ได้ และร้อยเรียงสถานที่ เหตุการณ์ขึ้นมาเป็นจุดสนใจในการท่องเที่ยว เนื่องจากเรื่องเล่าเป็นสิ่งเชื่อมโยงกับสถานที่ต่างๆ เมื่อผู้คนไปเยือนก็จะได้รับรู้สึกความหมายที่อยู่ลึกไปกว่าอาคารสถานที่ที่อาจดูธรรมดา


แต่ก็มีในหลายครั้ง ที่สถานที่ต่างๆ ไม่เหลือร่องรอยหรือแม้แต่ซากปรักหักพังแล้ว แต่ท้องถิ่นยังมีเรื่องเล่าที่สื่อถึงความเป็นตัวเป็นตนของชุมชนอยู่ก็สามารถนำมาประยุกต์ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ทั้งจากหลักฐานในท้องที่และนอกพื้นที่เพื่อรวบรวมและประกอบส่วนที่ขาดหายให้สามารถนำมาพัฒนาเป็นเรื่องเล่าได้ พลังของเรื่องเล่าอาจปรับเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวแทน เป็นการแสดง เทศกาล แทนสถานที่ที่ได้สูญหายไปแล้ว แต่เรื่องเล่าและข้อมูลที่หนักแน่นแข็งแรงจะสามารถสร้างความน่าสนใจและสร้างเอกลักษณ์ให้แก่ชุมชนท่องเที่ยวได้อย่างมีนัยยะสำคัญ


วัดนาเตา จ.น่าน

ท้ายที่สุด การเห็นคุณค่าในประวัติศาสตร์ของตนเอง การรู้และเข้าใจความเป็นมาของแต่ละพื้นที่สามารถสร้างพลังและความรู้สึกร่วมในการรักษ์ ดูแลพัฒนาชุมชนต่อไปได้ ในทุกพื้นที่มีเรื่องเล่า มีตัวตน มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แม้โลกาภิวัฒน์จะแปรสถานที่หลายแห่งให้มองแล้วเหมือนกันไปหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกสถานที่มีรากเหง้าเรื่องเล่าและความเป็นตัวเองอยู่ทั้งนั้น จึงเป็นความอุตสาหะและความสร้างสรรค์ที่ท้าทาย ที่ชุมชนท้องเที่ยวในแต่ละแห่งจะชุบชีวิตสถานที่และเรื่องราวให้แก่บ้านเกิดตนเอง เกิดเป็นเสน่ห์เฉพาะที่พร้อมเปิดรับให้นักเดินทางเมาเยี่ยมเยือนอย่างเข้าใจ เพราะหากท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ไม่อาจเข้าใจตัวตนความเป็นมาของตนเองได้แล้วนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคาดหวังให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ที่จะหวงแหนหรือเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามี



อ่านคู่มือนำเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จังหวัดน่าน ฉบับเต็มได้ที่นี่

เดินทางตามรอยราชวงศ์หลวงติ๋นกับ CUCT อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่








bottom of page