top of page

รักษาทะเลด้วย "ซั้งกอ"

อัปเดตเมื่อ 30 ม.ค. 2564

การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ อย่างหนึ่งก็คือการที่เราได้เรียนรู้กับวิถีชีวิตท้องถิ่น และการรักษาสมดุลต่างๆ ของธรรมชาติในสถานที่นั้นๆ เอาไว้ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน


วันนี้เราจะพาทุกคนมาเที่ยวสร้างสรรค์กับภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยู่กับท้องทะเล ผูกพันหากินอยู่ในวิถีชีวิตสั่งสมให้เกิดนวัตกรรมที่เรียบง่ายแต่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์อย่างมากมาย




“ซั้งกอ” คำที่ไม่ค่อยคุ้นหูพวกเราเท่าไรนัก เมื่อพี่ๆ ที่บ้านอ่าวคั่นกระไดพูดถึงกิจกรรมที่จะให้พวกเราได้ร่วมมือกันทำเพื่อเป็นการอนุรักษ์ท้องทะเล ทางมะพร้าวแห้งมากมายถูกแบกมากองพร้อมด้วยไม้ไผ่ลำยาว พี่บุช เจ้าของท้องที่แนะนำให้พวกเราค่อยๆ ทำตามง่ายทีละขั้นตอน จนซั้งกอออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนจะช่วยกันลำเลียงขึ้นเรืออย่างขันแข็งเพื่อนำไปวางยังจุดที่เหมาะสม ให้เป็น “โรงเรียนอนุบาล” สำหรับปลา


เพื่อนหญิงหลายคนวันนี้ดูบึกบึนมากเพราะแบกคานซั้งกออย่างทะมัดทะแมงไม่แพ้ผู้ชาย

แม้คลื่นไม่แรงนัก พอได้โงนเงนเหมือนนอนเปล ใครบางคนในหมู่พวกเราที่ไม่คุ้นชินกับการออกเรือก็ออกอาการ จนสุดท้ายทนไม่ไหวต้อง “ให้อาหารปลา” เกาะกราบเรือร่อแร่

ส่วนคนที่ยังฟิตก็ช่วยกันทิ้งซั้งกอลงในอ่าวตามจุดต่างๆ มองจากบนเรือ ผมสามารถเห็นปลาแหวกว่ายอยู่เบื้องล่าง น้ำทะเลที่นี่ค่อนข้างใส พี่ชาวประมงเล่าว่าที่อ่าวคั่นกระไดนี้ มีปลาอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะปลากุเลาที่นี่ มีรสชาติอร่อยและนิยมนำไปทำเป็นปลากุเลาเค็ม กินกับข้าวต้มหรือข้าวสวยก็อร่อย

ระหว่างกลับเข้าฝั่ง พี่บุช ชาวประมงคนคั่นกระไดผิวเข้มพูดประโยคหนึ่งสั้นๆ ที่อาจจะดูเป็นบทหรือคำที่สวยหรูในตอนปิดสารคดี แต่เมื่อผมได้ฟังจากปากคนที่อยู่ ที่กิน ที่เกิดและผูกพันพึ่งพาอ่าวคั่นกระไดผ่านน้ำเสียงและแววตาที่เรียบง่ายแล้ว ผมรู้สึกได้ถึงความเชื่อของพี่บุช และคนที่นี่จริงๆ


“ถ้าเรารักษาทะเล ทะเลก็จะรักษาเรา”


หากคุณได้อ่านเรื่องราววิถีการอนุรักษ์ทะเลของชุมชนคนคั่นกระไดจบแล้ว ช่วยบอกเราหน่อยว่าคุณสนใจไปเที่ยวชมหรือร่วมทำซั้งกอที่คั่นกระไดด้วยตัวเองไหม อะไรทำให้คุณสนใจ หรือต้องการรู้อะไรเพิ่มเติมที่กระตุ้นความสนใจของคุณได้ เพื่อเราจะนำความคิดเห็นของคุณพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนต่อไป ได้โปรดแสดงความคิดเห็นแก่เราในช่องความคิดเห็นด้านล่างบทความนี้


ดู 85 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page